ทุนศึกษาในประเทศ

ผู้ที่ได้รับทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถศึกษารายละเอียดการดำเนินการของนักเรียนทุนรัฐบาล ทุนพัฒนาบุคลากรภาครัฐ ศึกษาในประเทศ ได้ดังนี้

รายละเอียดการดำเนินการของนักเรียนทุนรัฐบาล
ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุนศึกษาภายในประเทศ)

 

 

1. การรายงานตัวรับทุนรัฐบาล
เมื่อกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ประกาศรายชื่อให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ฯ แล้ว นักเรียนทุนจะต้องมารายงานตัวและเข้ารับการปฐมนิเทศกับ ฝ่ายนักเรียนทุนฯ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

2. การทำสัญญาการรับทุน
เมื่อกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับทุนแล้ว กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับทุนไปยังหน่วยงานต้นสังกัด ผู้ได้รับทุนจะต้องติดต่อหน่วยงานต้นสังกัดที่ผู้รับทุนสังกัดอยู่ เพื่อจัดทำสัญญาการรับทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ฯ (ทุนศึกษาภายในประเทศ)

2.1. บุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดทำสัญญา

    • นักเรียนทุนรัฐบาล
    • คู่สมรสของนักเรียนทุนรัฐบาล (ถ้ามี)
    • ผู้ค้ำประกัน
    • คู่สมรสของผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี)

2.2. คุณสมบัติของผู้ค้ำประกัน

    • เป็นบิดาหรือมารดาของผู้ที่จะไปศึกษา โดยไม่ต้องแสดงหลักทรัพย์ ในการทำสัญญาค้ำประกัน และบิดาหรือมารดาต้องไม่อยู่ในสภาพของบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์
    • ในกรณีไม่สามารถจัดหาผู้ค้ำประกัน ตามข้อ 1 ได้ ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นพี่ หรือเป็นน้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกันกับผู้ที่จะไปศึกษา โดยผู้ค้ำประกันไม่ต้องแสดงหลักทรัพย์ในการทำสัญญาค้ำประกัน หรือ
    • หากไม่สามารถจัดหาผู้ค้ำประกันตามข้อ 1 และ 2 ได้ ให้กระทรวง ทบวง กรม ที่เป็นคู่สัญญาของผู้ที่จะไปศึกษาตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อพิจารณาตรวจสอบหากผลการพิจารณาตรวจสอบปรากฏว่า ผู้ที่จะไปศึกษาไม่มีบุคคลตามข้อ 1 และ 2 ที่จะมาทำสัญญาค้ำประกันและผู้ที่จะไปศึกษามีศักยภาพสูงยิ่งในการศึกษา ก็ให้ผู้ที่จะไปศึกษาทำสัญญาศึกษา โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันได้

2.3. เอกสารที่ใช้ในการทำสัญญา

    • บัตรประจำตัวประชาชนของนักเรียนทุน บิดา มารดา และคู่สมรสของนักเรียน (กรณีที่นักเรียนทุนสมรสแล้ว)
    • ทะเบียนบ้านของนักเรียนทุน บิดา มารดา และคู่สมรสของนักเรียน (กรณีที่นักเรียนทุนสมรสแล้ว)
    • ทะเบียนสมรส หรือใบหย่า ของบิดา มารดา และนักเรียน
      หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล ของนักเรียน บิดา มารดา และคู่สมรสของนักเรียน (ถ้ามี)
    • ใบยินยอมคู่สมรสของนักเรียน (ถ้ามี)
    • ใบมรณะบัตร ของบิดา มารดา และคู่สมรสของนักเรียน (กรณีที่เสียชีวิตแล้ว)

2.4. การส่งเอกสารในการจัดทำสัญญา

สัญญาการรับทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ฯ (ทุนศึกษาภายในประเทศ) จะต้องจัดทำ 4 ชุด โดยให้เก็บรักษาสัญญานี้ไว้ ดังนี้

    • ชุดที่ 1 ให้เก็บไว้กับหน่วยงานต้นสังกัด
    • ชุดที่ 2 ให้กับนักเรียนทุน
    • ชุดที่ 3 ให้กับผู้ค้ำประกันการรับทุน
    • ชุดที่ 4 ให้จัดส่งให้กับกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (ฝ่ายนักเรียนทุนฯ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ)
      สัญญาการรับทุนดังกล่าว ผู้ที่รับสัญญาจะต้องจัดเก็บไว้เป็นหลักฐาน

3. การดำเนินการภายหลังการจัดทำสัญญาการรับทุนรัฐบาล

  1. นักเรียนทุนต้องรายงานความคืบหน้าในการสมัครสถานศึกษาให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ทราบเป็นระยะๆ
  2. นักเรียนทุนควรจะหาสถานศึกษาภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากวันประกาศ รายชื่อให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับทุน
  3. การเพิกถอนทุน ผู้รับทุนไม่ได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาจากสถานศึกษาภายในระยะเวลา 2 ปี นับจากประกาศรายชื่อเป็นผู้มีสิทธิได้รับทุนรัฐบาล หรือผู้ที่ขาดการติดต่อกับ เจ้าหน้าที่นานเกิน 1 ปี

4. การสมัครสถานศึกษา

กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะอนุญาตให้นักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ฯ ศึกษา ดังนี้

  1. เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ทุกแห่งในประเทศไทย สถานศึกษาเอกชน แห่งเดียวที่อนุญาตให้ศึกษา คือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
  2. มหาวิทยาลัยของรัฐหลักสูตรนานาชาติ
  3. การลาเรียนต้องลาศึกษาเต็มเวลา (Full Time)

  4. มหาวิทยาลัยของรัฐที่เปิดหลักสูตรร่วมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ (Sandwich programme)

นักเรียนทุนควรสมัครสถานศึกษาที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของนักเรียน เช่น ระดับ สาขาวิชา ให้ตรงตามประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับทุน

5. ผู้ที่มีสถานศึกษาตอบรับให้เข้าศึกษาแล้ว
นักเรียนทุนที่มีสถานศึกษาตอบรับแล้วจะต้องดำเนินการ ดังนี้

  1. ติดต่อหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อทำหนังสือแจ้งมายังกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ว่าได้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าศึกษา ณ สถานศึกษาแห่งใด สาขาวิชาอะไร ภาคการศึกษาใด ปีการศึกษาใด
  2. เอกสารหลักฐานการตอบรับให้เข้าศึกษา
  3. เอกสารหลักสูตรรายวิชา ที่จะเข้าศึกษา
  4. เอกสารหลักฐานประมาณการค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในแต่ละภาคการศึกษา

6. การเบิกจ่ายเงินทุน
กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะส่งเงินทุนเป็นงวดๆ งวดละ 6 เดือน ไปยังคณะ หรือมหาวิทยาลัยที่นักเรียนทุนศึกษาอยู่ โดยแต่ละปีมีรอบการส่งเงินตามบัญชีเงินทุน ดังนี้ งวดที่ 1 เดือนมิถุนายน – 30 พฤศจิกายน งวดที่ 2 เดือนธันวาคม – พฤษภาคม

งวดแรก กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะส่งเงินทุนให้กับนักเรียนทุนไปยังมหาวิทยาลัยที่นักเรียนทุนศึกษาอยู่

งวดถัดไป กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะส่งเงินทุนก็ต่อเมื่อนักเรียนทุนได้ส่งรายงานผลการศึกษาและรายงานความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ มายังงานนักเรียนทุน โดยมีรอบการส่งดังนี้

ภาคต้น ส่งผลการศึกษาและ/หรือ รายงานความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ ภายในวันที่ 31 ตุลาคม

ภาคปลาย ส่งผลการศึกษาและ/หรือรายงานความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ภายในวันที่ 30 เมษายน

ผู้ได้รับทุนจะได้รับเงินทุนเร็ว ถ้าส่งผลการศึกษาภายในระยะเวลาดังกล่าว โดยผ่านการประเมินจากงานนักเรียนทุนแล้ว ผู้รับทุนจะได้รับเงินทุนตามบัญชีเงินทุน

7. ระยะเวลาในการสนับสนุนเงินทุนรัฐบาล
นักเรียนทุนจะได้รับเงินทุนรัฐบาลเป็นเวลา 2 ปี สำหรับหลักสูตรปริญญาโท หรือ 4 ปี สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาเอก หรือตามหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด

8. การสนับสนุนเงินทุน
นักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ฯ จะได้รับเงินทุนสนับสนุน ดังนี้

  • ค่าเล่าเรียน
  • ค่าใช้จ่ายส่วนตัว
  • ค่าประชุม/สัมมนาวิชาการ
  • ค่าหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา
  • ค่าทำวิจัย
  • ค่าเครื่องคอมพิวเตอร์
  • ค่าหอพักนักศึกษา (เฉพาะทุนบุคคลทั่วไป)

ค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมการศึกษาของมหาวิทยาลัย
กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะจ่ายให้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 125,000 บาทต่อปี ตามหน่วยกิตที่ผู้ ได้รับทุนลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคการศึกษา คือ ค่าขึ้นทะเบียนนักศึกษา ค่าหน่วยกิต ค่าธรรมเนียมการเรียนพิเศษ ค่ากิจกรรม ค่าบำรุงห้องสมุด ค่ารักษาสถานภาพ (ทำวิทยานิพนธ์) ค่าตรวจสุขภาพ ค่าประกันสุขภาพ ค่าทดสอบภาษาอังกฤษ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเรียกเก็บจากนักเรียน รวมถึงค่าลงทะเบียนล่าช้า ค่าหอพักที่เรียกเก็บโดยสถานศึกษาของผู้ได้รับทุน ยกเว้นค่าประกันต่างๆ อนึ่ง ค่าหน่วยกิตให้เบิกจ่ายสำหรับการลงทะเบียนเรียน ครั้งแรกหรือการลงทะเบียนเรียนซ้ำในวิชาเดิมหรือการ ลงทะเบียนเรียนภาคฤดูร้อนได้

ในกรณีที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ส่งเงินทุนในส่วนค่าเล่าเรียนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจริงในแต่ละปี ขอให้ผู้ได้รับทุนติดต่อแจ้งมายังงานนักเรียนทุนโดยตรง เพื่อจัดส่ง เงินทุนเพิ่มเติมให้ ทั้งนี้ขอให้ส่งรายการและคำนวณจำนวนเงินที่ต้องส่งเพิ่มมาด้วย

การเบิกจ่ายเงินทุน ผู้ได้รับทุนจะต้องไปเบิกเงินค่าใช้จ่าย ณ สถานศึกษาที่ ผู้ได้รับทุนกำลังศึกษาอยู่ สำหรับการจ่ายเงินค่าลงทะเบียนเรียน ให้ผู้ได้รับทุนทดรองจ่ายเงินค่าลงทะเบียนในภาคการศึกษาแรกไปก่อน แล้วจึงนำหลักฐานมาขอเบิกกับสถานศึกษา ที่ผู้ได้รับทุนกำลังศึกษาอยู่ (ยกเว้น AIT กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะจ่ายให้ AIT โดยตรง)

ค่าใช้จ่ายส่วนตัว

  • ศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับเป็นจำนวน 4 ปี ในอัตรา 5,420 บาทต่อเดือน
  • ศึกษาระดับปริญญาโท ได้รับเป็นจำนวน 2 ปี ในอัตรา 8,700 บาทต่อเดือน
  • ศึกษาระดับปริญญาเอก ได้รับเป็นจำนวน 4 ปี ในอัตรา 12,000 บาทต่อเดือน
    ให้สถานศึกษาเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนตัวให้แก่ผู้ได้รับทุน โดยจ่ายให้กับผู้ได้ รับทุนครั้งเดียว เป็นจำนวน 6 เดือน/ครั้ง สำหรับนักศึกษาที่ยังมีสถานภาพเป็นนักศึกษา โดยจะต้องลงทะเบียนในภาคการศึกษานั้นๆ ก่อนแล้ว และไม่อยู่ในระหว่างการลาพัก การศึกษา

ในกรณีที่ผู้ได้รับทุนเป็นข้าราชการหรือผู้ที่ปฏิบัติงานโดยได้รับเงินเดือนจากต้นสังกัดอยู่แล้วในขณะรับทุนกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กำหนดให้จ่ายเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัว ในจำนวนที่ได้กำหนดไว้ข้างต้นด้วย

ค่าประชุมวิชาการในประเทศ (ตามที่จ่ายจริง)

สถานศึกษาจะเบิกจ่ายให้แก่ผู้ได้รับทุนเป็นค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าลงทะเบียน เข้าร่วมประชุมสัมมนาวิชาการภายในประเทศ ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เห็นชอบ ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง และจำนวนเงิน ไม่เกิน 5,000 บาทต่อปี ผู้ได้รับทุนจะต้องสำรองเงิน จ่ายก่อนแล้วนำหลักฐาน (เช่น ใบเสร็จรับเงิน ) มาเบิกจ่ายเงินกับสถานศึกษา และให้ สถานศึกษาจัดทำบัญชีควบคุมค่าใช้จ่ายเป็นรายบุคคลและเก็บหลักฐานการเบิกจ่ายไว้ด้วย

ค่าหนังสือและอุปกรณ์ 
(เหมาจ่าย)

กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะจ่ายค่าหนังสือและอุปกรณ์การศึกษาให้แก่ ผู้ได้รับทุนในลักษณะเหมาจ่าย จำนวน 13,000 บาทต่อปี

ค่าทำวิจัย 
(เหมาจ่าย)

เงินทุนส่วนค่าทำวิจัยให้เบิกจ่ายแก่ผู้ได้รับทุนได้ในลักษณะเหมาจ่ายครั้งเดียวตามอัตรา ดังนี้

  • ระดับปริญญาตรี เริ่มให้เมื่อผู้ได้รับทุนเริ่มเข้าเรียนในปีที่ 4 เพียงปีเดียว จำนวน 8,000 บาท
  • ระดับปริญญาโท เริ่มให้เมื่อผู้ได้รับทุนเริ่มเข้าเรียนในปีที่ 2 เพียงปีเดียว สายวิทยาศาสตร์ จำนวน 30,000 บาท สายบริหาร จำนวน 25,000 บาท
  • ระดับปริญญาเอก เริ่มให้เมื่อผู้ได้รับทุนเริ่มเข้าเรียนในปีที่ 2 เพียงปีเดียว สายวิทยาศาสตร์ จำนวน 80,000 บาท สายบริหาร จำนวน 50,000 บาท

ค่าเครื่องคอมพิวเตอร์ 
(เหมาจ่าย)

จ่ายให้กับผู้ได้รับทุนในลักษณะเหมาจ่ายครั้งเดียว จำนวน 40,000 บาท

ค่าหอพักนักศึกษา 
(เหมาจ่าย)

บุคคลทั่วไปที่ศึกษาวิชาภายในประเทศ

  • กรณีที่ผู้ได้รับทุนอยู่หอพักของสถานศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ให้เบิกค่าหอพักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3,500 บาท/เดือน
  • กรณีที่ไม่ได้พักหอพักของสถานศึกษา ให้จ่ายค่าหอพักแบบเหมาจ่าย 3,500 บาท/เดือน

*ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ ไม่สามารถเบิกค่าหอพักได้

9. การสนับสนุนการไปนำเสนอวิทยานิพนธ์ ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ

นักเรียนทุนที่จะเดินทางไปประชุม หรือสัมมนาวิชาการที่ต่างประเทศ จะต้องเป็นการนำเสนอ Oral Presentation หรือ Poster Presentation ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก นักเรียนทุนสามารถขออนุมัติเดินทางไปเสนอผลงาน วิชาการได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ตลอดหลักสูตร (นักเรียนทุนจะต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย) ค่าใช้จ่ายที่เบิกได้ คือ ค่าลงทะเบียน ค่าเดินทาง ค่าที่พักตามที่จ่ายจริง เงินทุนนี้เบิกได้จากสถานศึกษาที่นักเรียนทุนศึกษาอยู่ มีหลักเกณฑ์การขอไปเสนอผลงานวิชาการในต่างประเทศ ดังนี้

  1. การเดินทางไปประชุมจะต้องเป็นงานประชุมวิชาการนานาชาติ และเป็นการไปเสนอผลงานวิชาการระดับปริญญาเอก ที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ที่ทำอยู่
  2. ต้องเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ฯ ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก ภายในประเทศ
  3. งานที่นำเสนอต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ที่ได้รับทุนอยู่ และต้องมีคุณภาพระดับนานาชาติ
  4. ได้รับการตอบรับให้เป็นผู้นำเสนอแบบ Oral Presentation หรือ Poster Presentation
  5. ขอรับการสนับสนุนได้ไม่เกิน 2 ครั้งตลอดหลักสูตร

การสนับสนุนค่าใช้จ่าย ดังนี้

  • ค่าลงทะเบียน ตามที่จ่ายจริง
  • ค่าเดินทาง คือ ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ การบินไทยชั้นประหยัด ( หากตั๋วเครื่องบินของสายการบินอื่นถูกกว่า 25 % ของราคาการบินไทย สามารถใช้ตั๋วเครื่องบินสายการบินนั้นได้)
  • ค่าที่พัก ตามที่จ่ายจริง (ตามอัตราการเบิกจ่ายของราชการ)
  • ค่าเบี้ยเลี้ยง (ตามอัตราการเบิกจ่ายของราชการ)
    *การวางแผนการเดินทาง ขอให้ใช้จ่ายอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด

เอกสารหลักฐานการยื่นขอรับการสนับสนุน

  1. หนังสือขอรับการสนับสนุน
  2. เอกสารตอบรับการเสนอผลงานทางวิชาการ
  3. บทความฉบับสมบูรณ์ (แสดงรายชื่อผู้ขอรับการสนับสนุนเป็นลำดับแรกในบทคัดย่อ)
  4. กำหนดการ / รายละเอียดการประชุม
  5. สรุปหมวดค่าใช้จ่ายและจำนวนเงินที่ต้องการขอรับการสนับสนุน
  6. ความเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษาต่อ การนำเสนอผลงาน และระดับของที่ประชุมวิชาการ
  7. เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

10. การสนับสนุนการทำวิจัยระยะสั้นในต่างประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษาฯ สนับสนุนนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ฯ ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกภายในประเทศ ให้ไปทำวิจัยในต่างประเทศ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยการไปทำวิจัย ณ ต่างประเทศ จะต้องเป็นงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนา ศักยภาพของตนเอง และการได้รับประสบการณ์วิจัยระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาเป็นนักวิจัย คุณภาพสูง ซึ่งสามารถเสนอขอรับทุนสนับสนุนตามแนวทาง ดังนี้

  1. เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ฯ ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกภายในประเทศ
  2. งานวิจัยที่จะไปทำระยะสั้น ณ ต่างประเทศต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับงานวิทยานิพนธ์ และเป็นประโยชน์กับประเทศไท
  3. ระยะเวลาในการไปทำวิจัยไม่เกิน 1 ปี
  4. หน่วยงานที่จะไปทำวิจัยจะต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือมหาวิทยาลัย ในต่างประเทศที่สำนักงาน ก.พ. รับรอง

ค่าใช้จ่ายที่สนับสนุน

  • ค่าหนังสือเดินทาง (Passport)
  • ค่าวีซ่าเข้าประเทศ (Visa)
  • ค่าประกันสุขภาพระหว่างศึกษา
  • ค่าใช้จ่ายส่วนตัว (จะใช้อัตราค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุนรัฐบาลที่ศึกษาวิชา ในต่างประเทศของแต่ละประเทศ)
  • ค่าเดินทาง คือ ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ การบินไทยชั้นประหยัด ( หากตั๋วเครื่องบิน ของสายการบินอื่นถูกกว่า25 % ของราคาการบินไทย สามารถใช้ตั๋วเครื่องบินสายการบินนั้นได้)
  • ค่าเล่าเรียน (Tuition Fee)

เอกสารหลักฐานการยื่นขอรับการสนับสนุน

  1. หนังสือขอรับการสนับสนุนจากนักเรียนทุน
  2. หนังสือสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัด
  3. เอกสารการตอบรับให้ไปทำวิจัยจากสถานศึกษา
  4. บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ (Abstract)
  5. หนังสือสนับสนุนการเดินทางไปทำวิจัยจากอาจารย์ที่ปรึกษา
  6. สรุปหมวดค่าใช้จ่ายและจำนวนเงินที่ต้องการขอรับการสนับสนุน
  7. เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

11. การรายงานการศึกษา
นักเรียนทุน จะต้องรายงานการศึกษาให้กับงานนักเรียนทุนทราบ พร้อมใบแสดงผลการศึกษา (Grade Report) ทุกภาคการศึกษาในเดือนเมษายน หรือเดือนพฤศจิกายน จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา ตามแบบรายงานการศึกษา ซึ่งสามารถ Download ได้ที่ https://stscholar.nstda.or.th หากนักเรียนทุนไม่รายงานการศึกษา จะไม่ได้รับค่าใช้จ่ายในภาคเรียนถัดไป และถือว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบในการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล

12. การสำเร็จการศึกษาและการรายงานตัวเข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุน
นักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษาแล้ว จะต้องมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่งานนักเรียนทุน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยเตรียมเอกสารหลักฐานดังนี้

  1. สำเนาใบแสดงผลการศึกษา (Transcript)
  2. สำเนาใบปริญญาบัตร (Certificate)
  3. หนังสือรับรองการสำเร็จการศึกษา
  4. บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ (Abstract)
  5. รูปถ่ายขนาด 2” จำนวน 2 ใบ

ภายหลังจากรายงานตัวกับกระทรวงการอุดมศึกษาฯ แล้ว นักเรียนทุนจะต้องไปรายงานตัวเข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุน ณ หน่วยงานต้นสังกัดตามที่ระบุไว้ในสัญญาการรับทุน

การเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุน

  • ให้สถานศึกษาที่นักเรียนศึกษาอยู่จัดเก็บหลักฐานการเบิกจ่ายเงินทุนทุกหมวด โดยแยกเก็บเป็นรายบุคคล เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบ
  • หลักฐานการเบิกจ่ายให้ใช้ใบเสร็จรับเงิน ใบสำคัญรับเงิน ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน และรายงานการเดินทางตามแบบของทางราชการ

การทำบัญชี

  • ให้สถานศึกษาที่นักเรียนกำลังศึกษา จัดทำบัญชีควบคุมค่าใช้จ่ายโดยลง รายรับ รายจ่ายอย่างละเอียดแยกเป็นรายบุคคล

การส่งคืนเงินเหลือจ่าย

ให้สถานศึกษาที่นักเรียนทุนกำลังศึกษา ส่งเงินเหลือจ่ายของนักเรียนทุนของแต่ละคนในทุกหมวดคืน ให้กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ทันที ภายหลังจากที่นักเรียนทุนสำเร็จการศึกษา โดยส่งเป็นเช็คสั่งจ่ายในนาม “สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” โดยส่งมาที่

ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน
ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120

สำหรับผู้ที่ได้รับทุนรัฐบาลภายในประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดย สวทช. จะส่งเงินทุนให้กับสถาบันที่ผู้ได้รับทุนสังกัดอยู่ งวดละ 6 เดือนต่อครั้งจนกว่าจะครบจำนวนเงินทุน ตามรายการ ดังต่อไปนี้

รายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ ของผู้ได้รับทุนรัฐบาล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศึกษาภายในประเทศ

สำหรับผู้ที่ได้รับทุนรัฐบาลภายในประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดย สวทช. จะส่งเงินทุนให้กับสถาบันที่ผู้ได้รับทุนสังกัดอยู่ งวดละ 6 เดือนต่อครั้งจนกว่าจะครบจำนวนเงินทุน ตามรายการ ดังต่อไปนี้

1ค่าเล่าเรียนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน125,000 บาท/ปี

(ค่าเล่าเรียนให้เบิกได้ตามที่จ่ายจริง ค่าเล่าเรียนให้รวมถึงค่าขึ้นทะเบียนนักศึกษา ค่าตรวจสุข ภาพนักศึกษา หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเรียกเก็บจากนักเรียน *ยกเว้นค่าประกันต่างๆ ในกรณีที่สำนักงานฯ ส่งเงินทุนส่วนนี้ให้ไม่ครบ ขอให้นักศึกษาติดต่อแจ้งมายังสำนักงานฯ โดยตรง)

2ค่าใช้จ่ายประจำเดือน 6 เดือน/ครั้ง ปริญญาตรี5,420.-/ เดือน
ค่าใช้จ่ายประจำเดือน 6 เดือน/ครั้ง ปริญญาโท8,700.-/ เดือน
ค่าใช้จ่ายประจำเดือน 6 เดือน/ครั้ง ปริญญาเอก12,000.-/ เดือน

สถาบันที่ผู้รับทุนสังกัดอยู่จะเบิกค่าใช้จ่ายส่วนตัวนี้ให้แก่ผู้รับทุน ให้จ่าย 6 เดือน/ครั้ง (จ่ายครั้งเดียว) สำหรับผู้รับทุนที่ยังมีสถานภาพเป็นนิสิต/นักศึกษา โดยจะต้องลงทะเบียน ในภาคการศึกษานั้นๆก่อน และไม่อยู่ระหว่างการลาพักการศึกษา

3ค่าประชุม/สัมมนาทางวิชาการ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน5,000.- บาท/ปี

จ่ายให้สำหรับการเข้าร่วมประชุม/สัมมนาปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ผู้รับทุนจะต้องสำรองเงินจ่ายก่อนแล้วนำหลักฐาน (เช่น ใบเสร็จรับเงิน ) มาเบิกจ่ายเงินกับ สถาบันฯ

4ค่าหนังสือและอุปกรณ์ (เหมาจ่าย**)13,000.- บาท/ปี
5ค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย (เหมาจ่าย**)วิทยาศาสตร์บริหาร
ปี ที่ 4 เริ่มทำโครงงานวิจัย ปริญญาตรี8,000.- บาท/คน –
ปี ที่ 2 เริ่มทำวิทยานิพนธ์ ปริญญาโท30,000.- บาท/คน25,000.- บาท/คน
ปี ที่ 2,3,4 เริ่มทำวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอก80,000.- บาท/คน50,000.- บาท/คน
6ค่าเครื่องคอมพิวเตอร์ (เหมาจ่าย**)40,000 – บาท
7ค่าหอพักนักศึกษาจ่าย 6 เดือน/ครั้ง3,500.- บาท/เดือน

(ค่าหอพักให้เบิกจ่ายตามที่จ่ายจริงกรณีที่นักเรียนทุนพักหอพักของสถานศึกษาที่ศึกษาอยู่ หรือไม่เกิน 3,500 บาท/เดือน กรณีที่มิได้พักหอพักของสถานศึกษา จะจ่ายให้สำหรับนักเรียนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐเท่านั้น)

หมายเหตุ : ** เหมาจ่าย หมายถึง สถาบันที่ผู้รับทุนสังกัดอยู่จะเบิกค่าใช้จ่ายส่วนตัวนี้ให้แก่ ผู้รับทุนในคราวเดียวตามจำนวนเงินทุนที่กำหนดไว้เพื่อให้ผู้รับทุนนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ของทุนได้ทันทีโดยไม่ต้องสำรองเงินส่วนตัว ทั้งนี้ผู้รับทุนจะต้องลงนามเบิกจ่ายเพื่อเป็นหลักฐานให้แก่สถาบันที่ผู้ได้รับทุนสังกัด

นักเรียนทุน จะต้องรายงานการศึกษาให้กับงานนักเรียนทุนทราบ พร้อมใบแสดงผลการศึกษา (Grade Report) ทุกภาคการศึกษาในเดือนเมษายน หรือเดือนพฤศจิกายน จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา ตามแบบรายงานการศึกษา ซึ่งสามารถ Download ได้ที่นี่  

แบบฟอร์มรายงานการศึกษา [Term ReportPDF] [Term ReportWORD]

หากนักเรียนทุนไม่รายงานการศึกษา จะไม่ได้รับค่าใช้จ่ายในภาคเรียนถัดไป และถือว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบในการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล