ความเป็นมาของศูนย์ประสานงานนักเรียนทุนฯ
ความเป็นมาของศูนย์ประสานงานนักเรียนทุนฯ
ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้พบว่าการจะแก้ปัญหาที่สาเหตุนั้นจะต้องแก้ปัญหาในระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยต้องประสบสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจประการหนึ่ง คือ พื้นฐานที่ไม่มั่นคง ทั้งในด้านการศึกษา การวิจัยและพัฒนา และเทคโนโลยีที่ยังคงต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ ดังนั้นการแก้ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การส่งเสริมและพัฒนาบุคคลากรในประเทศให้มีการทำงานวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพื่อให้มีความสามารถทัดเทียมกับต่างประเทศ ให้สามารถผลิตเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อแข่งขันกับตลาดโลกได้
ในช่วงปี 2533-2545 ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาบุคลากรโดยการจัดส่งบุคคลไปศึกษาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในต่างประเทศ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะกลับมาปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาในหน่วยงานสำคัญๆ ต่างๆ เช่น หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันจำนวนทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จัดสรรแล้วจากทุกแหล่งทุนมีผู้ได้รับทุนจำนวน 4,432 คน สำเร็จการศึกษาแล้ว 2,287 คน
โดยที่รัฐบาลได้จัดสรรทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก แต่ผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศยังไม่ปรากฎชัดเจน รัฐบาลจึงขอให้มีการพิจารณาเรื่องการนำความรู้ความสามารถของนักเรียนทุนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดสัมมนานักเรียนทุนรัฐบาลกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่สำเร็จการศึกษากลับมาแล้ว จำนวนประมาณ 600 คน ในหัวข้อ “นักเรียนทุนรัฐบาลกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับงานวิจัยและพัฒนา” เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2545 โดยมีหน่วยงานต้นสังกัด สำนักงาน ก.พ. ทบวงมหาวิทยาลัย เข้าร่วมสัมมนา นักเรียนทุนได้สรุปประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานวิจัยและพัฒนา และเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการทำงานวิจัยและพัฒนา ดังนี้
ปัญหา
- วงเงินวิจัยน้อยเกินไป ขั้นตอนการเสนอขอทุนยุ่งยาก การพิจารณาให้ทุนค่อนข้างล่าช้า
- เครื่องมือที่จะใช้ในการทำวิจัยไม่พร้อม
- เวลาทำงานวิจัยมีน้อย ภาระงานสอนและภาระอื่นมีมาก ขาดบุคลากรที่จะช่วยทำงานวิจัย และบรรยากาศในการทำงานวิจัยไม่เอื้ออำนวย
- หน่วยงาน / หัวหน้างานไม่สนับสนุนเท่าที่ควร กระบวนการจัดซื้อ / ซ่อมแซม ครุภัณฑ์ใช้เวลามาก
- เงินเดือนของนักวิจัยไม่เพียงพอ
แนวทางในการแก้ปัญหา
- เพิ่มวงเงินเพื่อการวิจัยและปรับปรุงประสิทธิภาพการให้ทุนวิจัย
- ควรมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือวิทยาศาสตร์ งานวิจัย รายชื่อนักวิจัยทั้งในและ ต่างประเทศ มีหน่วยงานกลางเชื่อมโยงนักเรียนทุน มีการสร้างศูนย์ข้อมูลเพื่อให้นักวิจัยสามารถใช้ร่วมกันได้ จัดทำและเผยแพร่แหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานวิจัย
- ให้มีการรวมกลุ่มกันในการทำงานวิจัย หาพันธมิตรในการทำวิจัย และมีพี่เลี้ยงนักวิจัย
- หน่วยงานต้นสังกัดควรมีนโยบายในการสนับสนุนการวิจัย กำหนดนโยบายของแต่ละองค์กรให้ชัดเจน ควรให้นักวิจัยใหม่มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนการวิจัยและมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับในการกลับมาทำงานวิจัย
- พยายามชักจูงให้ภาคอุตสาหกรรมให้ความร่วมมือสนับสนุนงานวิจัย จัดเวทีให้โรงงานอุตสาหกรรมได้พบปะกับนักวิจัยมากขึ้น
- ควรมีการใช้เวลาในการทำงานวิจัยมากขึ้น มีการพัฒนาบุคลากรเพื่อแบ่งเบาภาระของนักวิจัย พัฒนาบุคลากรให้สามารถซ่อมแซมเครื่องมือได้ และปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการจัดซื้อ
- มีเครือข่ายกับต่างประเทศ เพื่อยกระดับงานวิจัย
ปัญหาในการทำงานวิจัยและพัฒนาดังกล่าวในข้อ 4 สามารถสรุปได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากระบบการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการทำงานวิจัยและพัฒนา นักเรียนทุนจึงได้เสนอให้มี ศูนย์ประสานงานนักเรียนทุนรัฐบาลกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อทำหน้าที่ในการประสานงานในการปรับระบบบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการทำงานวิจัยและพัฒนาของนักเรียนทุน เช่น
- จัดให้มีแหล่งข้อมูลพื้นฐานให้กับนักวิจัย
- จัดให้มีเครือข่ายในการวิจัย
- ประสานงานในการจัดสัมมนา หรือ Workshop ในแต่ละสาขาอย่างต่อเนื่อง
- จัดมีการจัดพบปะระหว่างผู้ให้ทุนกับผู้รับทุนอย่างต่อเนื่อง
- ประสานงานกับหน่วยงานต้นสังกัดที่เป็นสถาบันการศึกษาในการจัดงานสอนให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างเหมาะสมเพื่อให้อาจารย์มีเวลาเพียงพอในการทำงานวิจัย
- จัดให้นักเรียนทุนมีความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดประชุมนักเรียนทุนรัฐบาลกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่กลับมาเยี่ยมบ้านเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2545 นักเรียนทุนเสนอให้มีศูนย์ประสานงานเพื่อส่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับทิศทางของงานวิจัยของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคตให้กับผู้ที่กำลังศึกษาในต่างประเทศ เพื่อนักเรียนจะได้วางแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2545 ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์ประสานงาน นักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากทุกแหล่งทุน และดำเนินการต่างๆ เพื่อให้นักเรียนทุนได้ใช้ความรู้ความสามารถได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานของนักเรียนทุนจากทุกแหล่งทุน
- เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทั้งในอดีตและปัจจุบันของนักเรียนทุน
- เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดตามและแก้ปัญหาให้กับนักเรียนทุน
- เพื่อเป็นเวทีกลางของนักเรียนทุนในการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งทางวิชาการและทั่วไป
เป้าหมาย
เพื่อให้นักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษากลับมาได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติต่อไป